วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาพอเมริกาโดนธรรมชาติ..เอาคืนหนัก


วันนี้ (14ธค.52)

อเมริกาทางตะวันตกและตอนกลาง โดนหิมะถล่มจนสร้างสถิติใหม่หลายพื้นที่ เช่นที่วิสคอนซิล หิมะตกหนาถึง 50 เซนติเมตร ที่ยูท่า อุณหภูมิติดลบถึง 17 องศาเซลเซียส

นักวิชาการกำลังสงสัยกันว่า เหตุใด..ความกดอากาศสูง หรืิอ มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือ ถึงแผ่ลงมาทางใต้ ลึกลงมาใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก จึงทำใ้เกิดพายุฤดูหนาวพัดถล่้มไปเกือบค่อนประเทศ

และข้างบนนี้ก็คือรูปถ่ายจากดาวเทียม เห็นหิมะสีขาว แทบจะกลืนกินอเมริกาหมดแล้ว


นอกจากนี้ ในวันนี้ก็มีรายงานว่า ทางตะวันออกของสหรัฐ ก็มีหลายเมืองที่โดนพายุฝนกระหน่ำหนักด้วย แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นเฮอร์ริเคน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่ฤดูนี้ ไม่ใช่ฤดูที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ จะมีลมและฝนแรง อย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้

ยังไม่อาจให้คำตอบได้ชัดเจนอีกแล้ว ว่าเกิดอะไรขึ้นที่อเมริกา..

แต่เพื่อนๆ นักข่าวสิ่งแวดล้อมด้วยกัน ก็สรุปเอาเองว่า "..สม..ละ..อเมริกาโดนซ๊ะบั้ง...อยากไม่ค่อยจะยอมช่วยชาวบ้านเขาลดโลกร้อน..ดีนัก..เฮ้อออออ...."

..หมุนมือ..ก่อนจบหนึ่งรอบ..^-^

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทะเลกรด..อีกมหันตภัย จากโลกร้อน

เวลาพูดถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เรามักจะนึกถึงแต่เรื่องของฟ้าฝน

แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมการประชุมโลกร้อนที่ กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจอีกประเด็นบ้างว่า

ไม่ใช่ว่าโลกร้อนแล้วจะทำให้ มหาสมุทรมีพลังจนไปสร้างพายุได้มากและรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่มหาสมุทรเองก็โดนผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กระทำเช่นกัน เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศ ได้ถูกดูดซับลงไปในน้ำทะเลด้วย

เพราะการใช้พลังงานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ 200 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีถึง 25 % ถูกมหาสมุทรดูดซับ ทำให้น้ำทะเลมีสภาพความเป็นกรดมากกว่าปกติถึง 30% ถือเป็นอัตราความเป็นกรดที่เร็วกว่าเมื่อ 20 ล้านปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

สิ่งที่ตามมาก็คือการก่อตัวของปะการัง การสร้างเปลือกของหอย ปู กุ้งต่าง ๆ จะทำได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เพราะสัตว์เหล่านี้ดูดซึมเอาแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างเปลือก แต่ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล กลับจะไปกัดกร่อนส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็งๆของมัน

งานวิจัยขณะนี้พบแล้วว่ามีสัตว์ทะเล 18 ชนิดที่มีปฏิกิริยาเช่นนี้แล้ว และยังพบอีกว่าล็อบสเตอร์หรือกุ้งยักษ์ และสัตว์สำคัญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ มีคุณค่าทางอาหารลดลง เนื่องจากต้องเร่งสร้างเปลือกหุ้มใหม่ให้ทันกับเปลือกที่สลายตัวอย่างต่อเนื่องจากกรด

ภาวะเช่นนี้ทำให้แนวปะการัง เกรทแบริเออร์รีฟที่ออสเตรเลีย ดูจะน่าเป็นห่วงที่สุดด้วย เพราะภาวะความเป็นกรด อาจกัดกร่อนได้เร็วกว่าที่ปะการังจะสร้างตัวขึ้นมาใหม่ก็ได้ ซึ่งแนวปะการัง ถือเป็นบ้านที่สำคัญของสัตว์น้ำขนาดเล็กในทะเล หากไม่มีปะการัง ก็เท่ากับไม่มีบ้าน เมื่อไม่มีบ้าน ก็เท่ากับ อาจไม่มีสัตว์ทะเลให้มนุษย์จับกินด้วย

ลองคิดดูครับ ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรทางอาหารที่สำคัญของโลก ถ้าหายไปจะเกิดอะไรขึ้น.. (หมุนมือแบบเข้มๆ ..เรียกร้องให้ช่วยกันลดโลกร้อนครับ..)

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552


ยุโรปมีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (Wind Supergrid ) นอกชายฝั่ง




ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเก้น 9 ประเทศในยุโรปได้ให้สัตยาบรรณในการสร้าง ซุปเปอร์กริด ในทะเลเหนือ ในปีหน้า เพื่อส่งเสริมการเติบโตของพลังงานลมนอกชายฝั่ง มีชื่อโครงการว่า the “North Seas Countries’ Offshore Grid Initiative”

รัฐมนตรีสื่อสาร พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติของไอร์แลนด์ กล่าวว่า นี่ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการกำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน และเป็นการรับประกันถึงการลดปริมาณคาร์บอนในอนาคต นอกจากนี้ ซุปเปอร์กริด ยังจะเป็นฟาร์มพลังงานลมของไอริชที่สามารถผลิตไฟฟ้าเชื่อมโยงตรงไปทั่วยุโรป ซึ่งไม่เพียงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังสามารถขายในตลาดวงกว้างได้ด้วย

9 ประเทศในกลุ่มยุโรปที่ให้สัตยาบรรณประกอบด้วย เดนมาร์ก เยอรมันนี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักซ์เซมเบิร์ก สวีเดน อังกฤษ และไอร์แลนด์

ถือเป็นการพัฒนาพลังงานลมที่ไร้พรหมแดนเลยทีเดียว

ปัจจุบันพลังงานลมนอกชายฝั่ง ผลิตไฟฟ้าใช้ในยุโรปประมาณ 0.3 % คิดเป็น 100 กิ๊กกะวัตต์ ขณะที่ ยุโรปมีเป้าหมาย จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 20 % ในปี 2020

เฉพาะเดนมาร์ก ใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้า 4.5%


ขอบคุณข้อมูลจาก ROBERT P. WALZER

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายหมด คุณว่าโลกจะเป็นอย่างไร

ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Cop15 ครั้งสำคัญ ที่กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงเวลานี้ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ออกมาว่า

ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า นักวิทยาศาตร์เชื่อว่า น้ำแข็งขั้วโลก อาจละลายหมดเลย อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 องศา

เราเห็นตัวเลขอุณหภูมิแล้วอาจคิดว่าไม่มาก แต่ลองคิดดูซิครับว่า เวลาเราต้มน้ำน่ะ แล้วเราเอามือไปอังเหนือน้ำที่เดือด มันจะร้อนใช่มั๊ยล่ะครับ (แสดงว่าอากาศเหนือหม้อน้ำมีอุณหภูมิสูง) แต่ถ้าเราเอามือออกมาสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะรู้สึกร้อนน้อยลง จนยิ่งสูงก็จะไม่ร้อนเลย เนี่ยครับ ก็ลองคิดดูซิ่ครับ อากาศมันต้องมีร้อนขึ้น 6 องศานะครับ แล้วจะมีความร้อนจากโลกแค่ไหน ถึงทำให้โลกทั้งใบร้อนได้ถึงขนาดนั้น

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือนั้น จะไม่ทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เหมือนการละลายของน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่ตามภูเขา เพราะว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเป็นภูเขาน้ำแข็ง ที่อยู่ในทะเลอยู่แล้ว

ทว่า ผลที่ตามมาจะเป็นตรงกันข้าม นั่นคือ ทะเลจะมีพื้นที่มากขึ้น และกลายเป็นตัวดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ก็คือโลกขาดความสมดุล ระบบนิเวศจะมีทั้งรวน ล่้มสลาย และก่อเกิดใหม่ รวมทั้งพิบัติภัยทางธรรมชาติก็จะแปรปรวน จนถึงเกิดขึ้นแบบที่มนุษย์อาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ในชั่วชีวิตนี้ จะได้เห็น

ว้าว..ถึงตอนนั้น เราก็ไม่รู้ว่า จะมีภาพของหายนะโลกเหมือนอย่างที่เราเห็นในหนัง เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่

มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราเนี่ย ไม่สามารถทำอะไร หรือแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น..ในเวลานั้น..ไ้ด้เลย

แต่..เวลานี้.. มนุษย์เราสามารถช่วยกันบรรเทาการทำร้ายโลก เพื่อไม่ให้ชะตากรรมของโลกและมวลมนุษยชาติ ต้องเดินไปถึงเป้าหมายที่น่าสะพรึงกลัว และเราไม่อยากเจอได้

เนี่ยแหละครับ ทั้งๆ ที่รู้กันว่า อนาคตข้างหน้าจะต้องเจออย่างไร แต่เขาก็ยังคงทะเลาะกันอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเก้น ว่าจะเอาไงดี พวกประเทศพัฒนาแล้ว ก็ไม่ยอมจ่ายตังลดโลกร้อน พวกประเทศกำลังพัฒนาก็อ้่าง อยากให้ฉันลดการทำลายทรัพยากร ก็จ่ายตังมาให้ฉันดิ่!!

เถียงกันอย่างนี้ แหละครับ และก็ทำท่าจะหาข้อยุติยาก โลกร้อนก็พูดกันไป แต่ใครจะทำจริงหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบครับ

สงสัยต่อไปเราไม่ต้องตีตั๋วดูหนังหายนะโลกแล้ว เพราะอีกหน่อย มันจะมาแสดงให้เราเห็นจริงๆ ถึงหน้าบ้านเราเลยครับ...(หมุนมือแบบSlowเศร้าๆ..)

ภาพซุปเปอร์โนว่าที่เพิ่งระเบิดครับ

นักดาราศาสตร์ในต่างประเทศได้พบว่า มีซุปเปอร์โนว่าที่สำรวจพบเมื่อ 2 ปีก่อน ได้ระเบิด และให้ความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 140 เท่า และให้แสงสว่างยาวนานมากกว่าที่เคยสำรวจมา


ภาพการระเบิดของซุปเปอร์โนว่า ก็เทียบเคียงได้ดังภาพที่โชว์อยู่นี่แหละครับ

ยังต้องติืดตามต่อนะครับ ว่าจะมีจักรวาลใหม่เกิดขึ้นหลังการระเบิดนี้หรือไม่

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แฉหลักฐาน!! โลกร้อนรุกคืบ ถึงเรา..โดยไม่รู้ตัว

ผมคิดว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องโลกร้อน.. เราคนไทยคงมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และแถมยังตระหนักกันด้วยว่า ต้องช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อช่วยในการลดโลกร้อนให้ได้

แต่สำหรับการที่บ้านเราอยู่ในชัยภูมิที่ปลอดภัย (ต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่เลือกดินแดนขวานทองให้ลูกหลานอยู่) จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลก อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เหมือนประเทศอื่นๆ เราจึงอาจจะยังไม่รู้ว่า โลกร้อนกำลังสร้างผลกระทบกับมนุษย์แล้ว ราวกับจะส่งสัญญาณให้เห็นภาพของหายนะโลก เหมือนกับที่เราดูในหนัง ที่เกี่ยวกับความวิบัติของโลกเลยทีเดียว

อย่างล่าสุดครับ ชาวประมงที่อินโดนีเซีย ออกมาตัดพ้อกันแล้วว่า ชีวิตของพวกเขากำลังเปลี่ยนไป เพราะโลกร้อนเล่นงานพวกเขาเป็นพวกแรกๆ

นึกภาพแล้ว งงๆ มั๊ยครับ ชาวประมงก็คือชาวบ้านทั่วไป ส่วนเรื่องของโลกร้อน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่คนเมืองอย่างเรา มักเอามาพูดถึงบ่อยๆ จนเอามายกเป็นกิจกรรมไฮโซต่างๆ รณรงค์ไปทั่ว ..เอ..แล้วมันไปเกี่ยวกับชาวบ้านอินโดนีเซียอย่างไร..??

มหันตภัยที่ชาวประมงและชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียเจอก็ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ การกัดเซาะชายฝั่งที่เร่งความรุนแรงขึ้น ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยน และการลดลงของผลผลิตทางการประมง ครับ!!

โอ้โห..เรื่องใหญ่เลยใช่มั๊ยล่ะครับ แต่เนี่ย..โลกร้อนทำให้ชาวอินโดนีเซียเจออย่างนี้จริงๆ

ตอนนี้ชาวประมงอินโดนีเซีย คาดการณ์ดินฟ้าอากาศแบบที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำ ไม่ได้เลย เพราะแต่ก่อนแค่ดูดาวและท้องฟ้า ก็รู้แล้วว่า ฤดูไหนกำลังจะไป และฤดูไหนกำลังจะมา แต่ทุกวันนี้ ดาวก็ยังอยู่ที่เดิมนั่นแหละ แต่ฤดูกาล ไม่ได้เป็นไปตามที่ตำแหน่งดวงดาวบอกซ๊ะแล้ว...

ชาวประมงอินโดนีเซียเล่าว่า เดี๋ยวนี้บ่อยครั้ง ที่ชาวประมง ต้องรีบหาทางเอาเรือเข้าจอด ทั้งที่ยังเดินทางไม่ถึงปลายทาง เหตุเพราะได้เกิดการก่อตัวของพายุอย่างรวดเร็วในทะเล โดยสัญญาณบอกเหตุ เช่นการเปลี่ยนแปลงของลม เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ทั้งที่ในอดีต ชาวประมงจะรู้ตัวล่วงหน้าเป็นวันๆ เลยทีเดียว

หัวหน้าศูนย์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและคุณภาพอากาศอินโดนีเซีย บอกว่า 4 ปีหลังมานี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในทะเลมาก โดยเฉพาะการแปรปรวนของลม ได้ทำให้ฤดูฝนและฤดูแล้ง ผิดเพี้ยน ความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังทำให้เกิดการก่อตัวของพายุที่น่าสะพรึงกลัวต่อชาวประมง เพราะพายุที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการยกตัวของเมฆ ทำให้เกิดฝนขนาดใหญ่ และคลื่นขนาดยักษ์

นี่ยังไม่รวมถึงน้ำทะเลที่เพิ่มระดับสูงขึ้น จนทำลายชายฝั่งของอินโดนีเซีย ให้พังทลายและจมหาย ไปก่อนหน้านี้ด้วย

การรุกคืบของโลกร้อนที่ถึงตัวชาวประมงอินโดนีเซีย โดยไม่รู้ตัวเนี่ย ได้ทำให้พวกเขาออกไปหาปลายากลำบากขึ้น และก็มีปลาให้จับ ลดลง ผลที่ตามมาก็คือ ความอดอยากของชาวประมง ความตาย และความสูญสิ้นของทรัพยากรของอินโดนีเซียและของโลก

ทีนี้ เหตุการณ์นี้ มันจะลุกลามมาถึงเราด้วยหรือไม่.. คุณผู้อ่านคิดถึงเวลาเราเอาโดมิโน้ มาเรียงกันเป็นแถวๆ ไว้ได้เลยครับ

ตอนนี้ โดมิโน้ตัวที่เรียงอยู่ที่อินโดนีเซียกำลังล้มเพราะโลกร้อนแล้ว และอีกหน่อย..มันก็จะล้มมาถึงเราด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ เพราะเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน ระยะทางที่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร ไม่ได้ช่วยขวางกันผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อินโดนีเซียเจอ ไม่ให้มาถึงเรา หรือประเทศอื่นๆ ในโลก ได้หรอกครับ

หรือตอนนี้มันอาจจะล้มมาถึงเราแล้วก็ไม่รู้ ก็เพราะเราไม่ค่อยมีข้อมูลการสำรวจผลกระทบโลกร้อนในบ้านเราสักเท่าไหร่

คงต้องหาหลักฐานมาแฉอย่างนี้กันต่อไปครับ เพื่อเราจะได้รู้กันว่า โลกร้อน..กำลังรุกคืบถึงตัวเรา โดยไม่รู้ตัว..จริงๆ !!..(หมุนมือ 1 รอบ..)

ขอขอบคุณ http://english.kompas.com

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สระบุรี..อันตราย!!!

แย่แล้วครับ.. วันนี้ (2ธค.52) ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี วัดค่าได้ 194.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินต่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สูงอย่างนี้มาเป็นวันที่ 2 ในสัปดาห์นี้แล้ว คือเมื่อวานวัดได้ 131.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็เกินค่ามาตรฐานอยู่ดี

การที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเกินมาตรฐาน หมายความว่าอย่างไร

ความหมายของมันก็คือ ประชาชนที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว ไม่ควรอยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน เราๆ ท่านๆ ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ก็ไม่เหมาะที่จะไปออกกำลังกายกลางแจ้งเช่นกัน

เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เราพูดถึงอยู่นี้ มีขนาดเล็กจิ๋วมากๆ สามารถชอนไชเข้าถึงถุงลมปอดขนาดเล็กๆ ที่อยู่ในหน้าอกของเรา ได้อย่างสบายทีเดียว ทำให้คนที่สูดดม กลายเป็นโรคสารพัดทางเดินหายใจ ได้ไม่ยาก

เห็นข้อมูลอย่างนี้ คงต้องบอกว่า หมอกที่เราเห็นอยู่ที่หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ในขณะนี้ ไม่ใช่หมอกที่น่าอภิรมย์ของฤดูหนาว แต่เป็นหมอกที่มีความอันตรายจริงๆ เพราะเป็นหมอกที่ปนไปด้วยฝุ่นจากการระเบิดหิน ในระดับสูง

ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ผ่านมาก็ยังพบอีกว่า ช่วงนี้แหละครับ เป็นช่วงที่มักจะตรวจวัด พบฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หน้าพระลาน เกินค่ามาตรฐานอยู่เสมอ เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศแห้ง จากความหนาวเย็น ทว่า...ก็ดูสิครับ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ช่วงนี้ จะเกิดสภาพอากาศที่เลวร้ายกับชาวบ้าน แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานในตอนนี้อยู่ดี

ชาวหน้าพระลาน ได้บ่นผ่านรายการ ทีวี 360 องศา ว่า หายใจกันลำบาก น้ำฝนก็รองกินกันไม่ได้ เป็นหืดเป็นหอบกันเต็มไปหมด แต่นั่นก็คงได้แค่บ่นครับ เพราะจากประสบการณ์การทำข่าวสิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้ของผมนั้น ไปทำข่าวที่นี่ทีไร ก็ได้ฟังชาวบ้านบ่นอย่างนี้ทุกปี แล้วหลังจากเป็นข่าวทีนึง ก็จะเห็นการเข้าไปสั่งการให้พ่นสเปรย์น้ำ หรือลดการระเบิดหินลง ในช่วงที่เป็นข่าวเท่านั้น

ปีนี้ ก็คงคิดว่า เราคงได้แต่เห็นใจชาวบ้านนะครับ ที่ชีวิตของเขา ต้องอยู่ในที่ที่อันตราย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...ขอหมุนมือ ทีวี 360 องศา อย่างเศร้าๆ ครับ..

ญี่ปุ่นแย่แล้ว..แมงกะพรุนยักษ์บุก!!

ได้เกิดเหตุการณ์ฝูงแมงกะพรุนยักษ์อิจิเซ็น ที่แต่ละตัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เมตร หนักถึง 300 กิโลกรัมบุกน่านน้ำญี่ปุ่นมากผิดปกติครับ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโลกร้อนอย่างแน่นอน เพราะอุณหภูมิในน้ำทะเลญี่ปุ่นอุ่นขึ้นเร็วกว่าปกติถึง 3 เท่า

ในขณะที่นักสมุทรศาสตร์ไทยบอกว่านี่อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของกระแสน้ำทะเล ที่มีอุณหภูมิและลมเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะแมงกะพรุนไม่สามารถว่ายไปไหนมาไหนเองได้ ต้องล่องลอยไปตามกระแสน้ำ หากฝูงแมงกะพรุนไปอยู่ในที่ที่ไม่เคยปรากฏเช่นนี้ซ้ำอีกหลายครั้ง อาจเป็นไปได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบกระแสน้ำของโลก ได้เลยทีเดียว

น่าเป็นห่วงมั๊ยครับ นี่เป็นแค่คำสันนิษฐานทางวิชาการที่พยายามหาทางอธิบายว่า ทำไมแมงกะพรุนยักษ์ถึงได้แห่แหนไปอยู่ที่ญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล

แต่ถ้าดูจากข้อสันนิษฐานทางวิชาการอีกด้าน จะยิ่งน่าตกใจครับ

ข้อสันนิษฐานทางวิชาการที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ต้นตอที่เป็นตัวกำเนิดของแมงกะพรุนชนิดนี้ หรือที่เรียกว่า Stobila มีมากขึ้นหรือไม่ ถ้าพบว่าตัวต้นตอกำเนิดแมงกะพรุนมีมากขึ้น นั่นย่อมแสดงว่าการย้ายถิ่นของแมงกะพรุนยักษ์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่มาตามกระแสน้ำเมื่อหลายปีก่อนและตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้

ในขณะที่กรณี ถ้าน้ำทะเลญี่ปุ่นมีความสกปรกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้อาหารของแมงกะพรุนมีเพิ่มขึ้น จำนวนแมงกะพรุนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ข้อสันนิษฐานนี้ก็น่าจะมีน้ำหนัก

แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ หากเป็นการย้ายถิ่นของแมงกะพรุนมาในบริเวณทะเลน่านน้ำญี่ปุ่นจริง และมันอยู่จนกลายเป็นสัตว์ประจำถิ่นไปแล้ว ก็อาจทำให้โครงสร้างระบบนิเวศเสียไป เพราะแมงกะพรุนเป็นสัตว์ผู้ล่าลำดับบนๆ ของห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล แน่นอน..มันจะกินหมดครับ ทั้งแพลงตอนเล็กๆ ไปจนปลาเล็กปลาน้อย มนุษย์เดือดร้อนแน่ เพราะอาจจะไม่มีปลาให้จับในอนาคตได้

เกิดที่ญี่ปุ่น แล้วเราคนไทยจะมารู้เรื่องด้วยทำไม... เราต้องรู้สิครับ เพราะน่านน้ำญี่ปุ่น มันก็เป็นทะเลเดียวกับไทยของเรานั่นเอง ถ้าปลาที่ญี่ปุ่นหมด มันก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ถึงปลาในทะเลน่านน้ำบ้านเราเช่นกัน

ผลกระทบนี้ ยิ่งกว่า "ฝนที่ตกทางโน้น..หนาวถึงคนทางนี้.." อีกนะครับ (ขอขอบคุณเพลงพี่เบิร์ด..555) เพราะเราและลูกหลานเรา จะได้รับผลกระทบถึงขนาดกระเทือนต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้เลยทีเดียว

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอาจมีมากกว่าที่เราคาดคิดก็ได้นะครับ อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโลกให้มากขึ้น ก็ติดตามกันใน..ทีวี 360 องศา...(หมุนมือเป็น...วงกลม..)

ดูภาพที่ Link ข้างล่างนะครับ .. ขอบคุณเจ้าของภาพด้วยครับ

http://www.online-station.net/news/views.php?id=15054

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์..ต้องช่วยกันติดตามนะครับ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไกคา ในเมืองไกคา รัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ของอินเดีย ได้เกิดการปนเปื้อนของน้ำหล่อเย็น เข้าไปในน้ำดื่มในคูลเลอร์เครื่องหนึ่ง ทำให้ต้องส่งตัวพนักงาน 55 คน ไปรักษา เนื่องจากมีระดับทริเทรียมเพิ่มขึ้น หลังดื่มน้ำดังกล่าว ทริเทรียมเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของไฮโดรเจน ที่มีอันตรายต่อสุขภาพเมื่อถูกบริโภคผ่านน้ำ อาหาร สูดดม หรือดูดกลิ่นผ่านผิวหนัง รัฐบาลกำลังเร่งสอบหาสาเหตุของการปนเปื้อนครั้งนี้

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งนิวเคลียร์ กำลังถูกมองว่า อาจเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต หากเราเกิดวิกฤตจากปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ)

ปัญหาความปลอดภัย ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นจุดอ่อนที่สำคัญมาก ที่ทำให้เกิดการต่อต้านจากมวลชน เมื่อเวลาจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เกิดขึ้น ณ ที่ใดๆ ซึ่งก็รวมถึงเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยด้วย ที่ไม่ค่อยไปถึงไหน ก็เพราะประชาชนยังกลัวเรื่องความปลอดภัย ซึ่งปัญหามักมาจากความผิดพลาดของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ติดตามพายุใกล้ๆ บ้านเรากันครับ

ในขณะที่บ้านเรากำลังมีอากาศที่หนาวเย็น แต่แถวๆ เกาะกวม และก็ไม่ไกลจากประเทศฟิลิปปินส์ พายุหมุนเขตร้อน ลูกที่ชื่อว่า "นิด้า" วันนี้ได้ทวีปความรุนแรงขึ้นเป็น "ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น" เรียบร้อยแล้ว มีความรุนแรงถึงระดับ 5 และมีความเร็วลมศูนย์กลางพายุถึง 270 กิโลเมตร เลยทีเดียว เร็วขนาดไหนนึกถึงเข็มหน้าปัดวัดความเร็วรถของเราได้เลยครับ

ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นนิด้าลูกนี้ ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยนะครับ เพราะตอนนี้มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญของไทยคาดการณ์ว่า น่าจะอ่อนกำลังหรือสลายตัว เสียก่อนที่จะถึงญี่ปุ่น เพราะจะไปเจอกับน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิที่เย็นกว่า ก็จะทำให้หมดพลัง และสลายหายไปครับ

ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปลายแหลมญวน ลูกนี้แหละครับ ที่อาจจะมีผลกระทบกับประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง ตอนนี้ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด พบว่า ยังอ่อนกำลังอยู่ครับ นักวิชาการบอกว่ายังคงต้องจับตามองจนกว่าจะสลายตัวไปอย่างชัดเจน เพราะยังคงมีการรวมตัวของมวลอากาศอยู่ การพัฒนาเป็นพายุจึงยังอาจเป็นไปได้ และกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยเองก็บอกว่ายังต้องจับตา เพราะอาจจะขึ้นฝั่งใต้ตอนล่างได้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้

มีความคืบหน้า จะรายงานต่อนะครับ..กับ ทีวี 360 องศา ..(หมุนมือด้วย....)

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข่าวดีสำหรับคนชอบหนาว

หน้าหนาวปีนี้ อาจจะมาได้เร็ว และเย็นได้ใจ สำหรับหลายคนเลยนะครับ
วันนี้ครับ ในการเฝ้าติดตามสภาพอากาศหนาวในรายการ "ทีวี 360 องศา" ผมได้พบว่า ตอนนี้ได้เกิด "แม่คะนิ้ง" หรือน้ำค้างแข็ง ขึ้นที่บนยอดหญ้าของดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้ว อุณหภูมิบนยอดหญ้าเช้าวันที่ 24 พย. ติดลบ 0.7 องศา ทำให้เกิดแม่คะนิ้ง ถือว่าเป็นแม่คะนิ้งช่วงแรกๆ ของหน้าหนาวปีนี้เลยทีเดียว ถือว่า มาไวมากนะครับ เพราะนี่ยังไม่เข้าเดือนธันวาคมเลย ซึ่งเป็นเดือนที่จัดว่าเข้าหน้าหนาวมากๆ ของประเทศไทย

ข่าวดีนี้ไม่ได้มีที่เชียงใหม่เท่านั้น ที่อ.อุ้งผาง และท่าสองยาง จังหวัดตาก ก็มีการพบเห็นเกร็ดน้ำแข็งตามกอหญ้า (ทำไมนักข่าวที่ตากไม่เรียกแม่คะนิ้งเหมือนที่เชียงใหม่ก็ไม่ทราบ) ขึ้นขาวตามกอหญ้าข้างทางเป็นจำนวนมากแล้วครับ อากาศกำลังหนาวได้ใจ ถึงขนาดชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่บนที่สูงๆ แถบนั้นอยู่แล้ว ยังสู้ความหนาวเย็นไม่ไหว ยังต้องออกมานั่งพิงไฟ รับความอบอุ่นกันเลย

จะหนาวได้ใจสำหรับทุกคนหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ความชอบนะครับ

แต่ตอนนี้ก็มีสิ่งที่จะมาขัดขวางความหนาวเย็นสำหรับประเทศไทยช่วงนี้แล้ว นั่นคือนับจากนี้ (24 พย.) เป็นต้นไป อากาศหนาวที่จีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ได้อ่อนแรงลงแล้ว ทำให้ต่อจากนี้ ประเทศไทยตอนบนก็จะมีอากาศที่อุ่นขึ้น แต่ก็ยังจัดว่าหนาวเย็นอยู่นะครับ ไม่ถึงขนาดข้ามไปร้อนเลยทีเดียว

ส่วนทางภาคใต้ตอนนี้น่าเห็นใจครับ เพราะกำลังมีหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือหย่อมฝน ก่อตัวอยู่ใกล้ๆ แถบปลายแหลมญวน (แหลมญวนอยู่ตรงไหน ก็อยู่ตรงปลายๆ ของประเทศเวียดนามนั่นแหละครับ) ขณะนี้กำลังเพิ่มกำลังแรงขึ้น บางคนคาดว่าจะกลายเป็นดีเปรสชั่น ในวันพรุ่งนี้ (25พย.)ครับ ส่วนทีศทางเท่าที่ผู้รู้คาดการณ์กัน คาดว่าจะมุ่งหน้าไปที่สิงคโปร์กับมาเลเซียครับ ไทยเราอาจได้รับหางๆ แต่หางๆ ที่ได้รับ ก็ยังน่าห่วงนะครับ เพราะทางใต้เพิ่งเจอน้ำท่วมมาถึง 2 ระลอก ถ้าเจอฝนตกนานจากพายุลูกนี้อีก คงแย่แน่ครับ (โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่หาดใหญ่)

อาทิตย์หน้าอาจต้องมาตามดูกันต่อนะครับ ว่าจะมีข่าวดีสำหรับคนชอบหนาวอีกหรือเปล่า

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โลกเปลี่ยนไปมาก..มนุษย์เตรียมรับมือรึยัง

ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ ออสเตรเลีย อยู่ใกล้เรา เพียงแต่อยู่กันคนละซีกโลก แต่ออสเตรเลียก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง โดยที่เราคนไทย ที่ว่าอยู่ใกล้ๆ กับออสเตรเลีย อาจจะไม่ทราบ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (16-20พย.52) ในรายการ "ทีวี360องศา" ทางช่อง 3 ผมได้รายงานว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเจอพายุหิมะ หรือไม่ก็ พายุฝนถล่มอย่างหนัก แต่ที่ออสเตรเลีย กลับเจอกับคลื่นความร้อน ด้วยอุณหภูมิไต่ระดับจาก 30 กว่าองศา จนทะยานขึ้นสูงกว่า 44 องศา ภายใน 1 สัปดาห์ และยังต้องประกาศเตือนภัย ห้ามจุดไฟในกิจกรรมต่างๆ ทุกชนิด โดยเฉพาะในรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เพราะมีโอกาสเกิดไฟป่าขั้นรุนแรงได้สูง สุดท้ายก็จริงๆ ครับ ช่วงปลายสัปดาห์ได้เกิดไฟป่าที่รัฐควีนส์แลนด์จนได้ จนมีการเตรียมแผนอพยพประชาชนหนีไฟป่า

คุณผู้อ่านเชื่อมั๊ยครับว่า แทนที่ผมจะต้องคอยติดตามว่าสถานการณ์ไฟป่าที่ออสเตรเลีย จะแผ่กระจาย หรือลุกลาม ต่อไปอย่างไร เพื่อรายงานให้คนดูทีวี 360 องศาทราบ แต่กลับกลายเป็นว่า วันนี้(22พย.) มีรายงานว่า ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย หรือบริเวณเดียวกับที่กำลังเกิดปัญหาไฟป่าและคลื่นความร้อน เฉพาะที่เมลเบิร์น ฝนตกข้ามคืนถึง 50 มิลลิเมตร จัดว่าหนักที่สุดในรอบ 4 ปีเลยทีเดียว

นักพยากรณ์อากาศของออสเตรเลียถึงกับบอกว่า เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว ที่พิบัติภัยทั้ง 2 อย่าง คือคลื่นความร้อน และฝนตกหนัก ได้มาเกิดภายในเดือนเดียวกัน แม้ว่าการที่มีฝนจะมาช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่า ที่กำลังจะเกิดขึ้นในย่านนี้ก็ตาม

หรือนี่จะเป็นสัญญาณอะไร ของธรรมชาติ ที่กำลังแจ้งเตือนมนุษย์

ภาวะฝนตกหนักรุนแรงนี้เอง ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยเอง ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นปัญหาที่ต้องติดตามกันว่า จะเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้หรือไม่

บริเวณที่น่าเป็นห่วงในระยะนี้ก็ได้แก่ ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป เพราะช่วงนี้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง

ส่วนภาคเหนือ อีสาน กลาง และตะวันออก ก็อย่าเพิ่งเพลินกับความหนาว เพราะหลังจากนี้ จะเกิดภัยแล้งมาเยือนแน่ โดยที่ผ่านมามีฝนตกน้อย และคาดว่าปรากฎการณ์เอลนิโญ่ที่จะพัฒนาแรงขึ้นในต้นปีหน้า จะทำให้ฝนปีหน้าตกในประเทศไทยน้อยลง รวมทั้ง เราอาจจะไม่หนาวเท่าปีที่แล้วด้วย

นี่แหละ..โลกเปลี่ยนไปมาก มนุษย์อย่างเราเตรียมรับมือรึยัง ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มีแค่ในหนังนะ กำลังเกิดขึ้นจริง เพียงแต่เราไม่ค่อยรู้ เลยคิดว่า เป็นเรื่องไกลตัว

โลกร้อนอาจนำพาความขัดแย้งมาสู่มหาสมุทรอาร์คติค

ต่อไปคงเกิดความขัดแย้งในเรื่องน่านน้ำและการยึดครองทรัพยากรในมหาสมุทรอาร์ติค ทางขั้วโลกเหนือแน่ สาเหตุสำคัญมาจากการที่น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์ติค ละลาย และคาดว่าจะละลายจนกลายเป็นทะเลเปิด ในปี2030 หรือ ปี 2573

ตอนนี้กองทัพเรือสหรัฐ ได้ขยับตัวรับสถานการณ์นี้แล้ว ถึงขนาดวางโรดแมพ ที่มีการกำหนดว่า จะมีการแข่งขัน และความขัดแย้ง เกิดขึ้น หลังจากที่โลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในทะเลทางขั้วโลกเหนือ

นั่นคือ การที่อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี จะทำให้ทะเลน้ำแข็งที่เชื่อมจากไซบีเรียทางฝั่งเอเชีย และอลาสก้าฝั่งทวีปอเมริกา ขาดออกจากกัน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ภายใน 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2573 นี่แหละ ภาวะนี้เองที่จะทำให้มหาสมุทรอาร์คติดกลายเป็นทะเลเปิด การเดินเรือเพื่อการสำรวจทรัพยากรจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ทรัพยากรที่คาดว่าจะมีอย่างมากมายในทะเลน้ำลึกของมหาสมุทรอา์ร์คติคก็คือ น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ

เมื่อถึงเวลานั้น คาดว่าจะมีการอ้างสิทธิเพื่อการสำรวจกันยกใหญ่ เพราะอย่างไรเสีย น้ำมันก็ยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์โลก แถมเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และก็มีปริมาณสำรองในโลก น้อยลงทุกที

ภาวะโลกร้อนที่พัฒนามากขึ้นทุกขณะ จึงอาจจะนำพาปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ให้มนุษยชาติได้เผชิญในอนาคต ..

เราคงไม่อาจทำอะไรไปได้มากไปกว่า.."เรียนรู้" ที่จะ "รับรู้" ผลกระทบที่เราจะเจอ แล้วหาทางอยู่ร่วมกับมัน อย่างมีความสุขให้ได้