วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทะเลกรด..อีกมหันตภัย จากโลกร้อน

เวลาพูดถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เรามักจะนึกถึงแต่เรื่องของฟ้าฝน

แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมการประชุมโลกร้อนที่ กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจอีกประเด็นบ้างว่า

ไม่ใช่ว่าโลกร้อนแล้วจะทำให้ มหาสมุทรมีพลังจนไปสร้างพายุได้มากและรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่มหาสมุทรเองก็โดนผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กระทำเช่นกัน เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศ ได้ถูกดูดซับลงไปในน้ำทะเลด้วย

เพราะการใช้พลังงานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ 200 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีถึง 25 % ถูกมหาสมุทรดูดซับ ทำให้น้ำทะเลมีสภาพความเป็นกรดมากกว่าปกติถึง 30% ถือเป็นอัตราความเป็นกรดที่เร็วกว่าเมื่อ 20 ล้านปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

สิ่งที่ตามมาก็คือการก่อตัวของปะการัง การสร้างเปลือกของหอย ปู กุ้งต่าง ๆ จะทำได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เพราะสัตว์เหล่านี้ดูดซึมเอาแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างเปลือก แต่ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล กลับจะไปกัดกร่อนส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็งๆของมัน

งานวิจัยขณะนี้พบแล้วว่ามีสัตว์ทะเล 18 ชนิดที่มีปฏิกิริยาเช่นนี้แล้ว และยังพบอีกว่าล็อบสเตอร์หรือกุ้งยักษ์ และสัตว์สำคัญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ มีคุณค่าทางอาหารลดลง เนื่องจากต้องเร่งสร้างเปลือกหุ้มใหม่ให้ทันกับเปลือกที่สลายตัวอย่างต่อเนื่องจากกรด

ภาวะเช่นนี้ทำให้แนวปะการัง เกรทแบริเออร์รีฟที่ออสเตรเลีย ดูจะน่าเป็นห่วงที่สุดด้วย เพราะภาวะความเป็นกรด อาจกัดกร่อนได้เร็วกว่าที่ปะการังจะสร้างตัวขึ้นมาใหม่ก็ได้ ซึ่งแนวปะการัง ถือเป็นบ้านที่สำคัญของสัตว์น้ำขนาดเล็กในทะเล หากไม่มีปะการัง ก็เท่ากับไม่มีบ้าน เมื่อไม่มีบ้าน ก็เท่ากับ อาจไม่มีสัตว์ทะเลให้มนุษย์จับกินด้วย

ลองคิดดูครับ ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรทางอาหารที่สำคัญของโลก ถ้าหายไปจะเกิดอะไรขึ้น.. (หมุนมือแบบเข้มๆ ..เรียกร้องให้ช่วยกันลดโลกร้อนครับ..)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น